หลังจากการถูกขายชอร์ตอย่างหนัก ทองคำได้แตะระดับต่ำสุดใกล้ $3,167 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ความคืบหน้าในการเจรจาการค้าและความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐที่ลดลงกลายเป็นแรงกดดันหลักต่อราคาทอง อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเจรจาภาษีในอนาคต และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดช่วยสร้างฐานรองรับราคาทองคำไว้ได้
บนกราฟรายวันของ XAUUSD ฝั่งขายยังคงครองตลาดถึงวันพฤหัสที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนมาจากอัตราการเปลี่ยนแปลงราย 3 วัน (RoC) ที่เป็นลบ แรงขายผลักดันให้ราคาหลุดกรอบการสะสมบริเวณ $3,240 ซึ่งเป็นกรอบที่อยู่มานับตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ซึ่งหมายความว่านักลงทุนที่ซื้อสะสมแถว $3,177 อาจขาดทุนและต้องประเมินตำแหน่งอีกครั้ง ซึ่งมักนำไปสู่แรงขายเพิ่มเติม
ขณะเดียวกันการร่วงลงจากจุดสูงสุดมากกว่า 9% ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาก็ได้สร้างรูปแบบ double-top ที่ชัดเจน และหลังจากนั้นฝั่งซื้อก็เริ่มกลับเข้ามามีแรงอีกครั้ง โดยราคากลับมาเคลื่อนไหวใกล้ระดับ $3,240 ซึ่งยังเป็นจุดที่ฝั่งซื้อและขายแย่งชิงทิศทางตลาด
หากแรงขายกลับมาอีกครั้งในสัปดาห์นี้ ระดับสูงสุดวันที่ 3 เมษายนที่ $3,167 และค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 50 วันอาจเป็นแนวรับระยะสั้น หากหลุดต่ำกว่านี้ ระดับ $3,050 อาจเป็นจุดที่มีแรงซื้อกลับเข้ามา ซึ่งตรงกับเป้าหมายขาลงที่คาดไว้จากรูปแบบ double-top ส่วนแนวต้านด้านบนคือเส้น EMA 5 วัน และกรอบบนของช่วงราคาก่อนหน้าบริเวณ $3,380
สิ่งที่น่าสังเกตคือ การร่วงลงของทองคำครั้งนี้สอดคล้องกับการคลี่คลายของความตึงเครียดทางการค้า ซึ่งตรงข้ามกับแนวโน้ม “เทขายสินทรัพย์อเมริกา” ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนก่อน
การเปลี่ยนแปลงในความเชื่อมั่นเริ่มต้นจากข้อตกลงระหว่างสหรัฐและสหราชอาณาจักร ที่คงภาษี 10% และลดภาษีรถยนต์จาก 25% เหลือ 10% จากนั้นตามมาด้วยความคืบหน้าในการเจรจากับจีน ที่ทั้งสองฝ่ายตกลงลดภาษีอย่างมีนัยสำคัญ เหลืออัตราเดียวที่ 10% และพักการเรียกเก็บภาษีที่เหลือ 24% ไว้เป็นเวลา 90 วัน
เมื่อสถานการณ์ผ่อนคลาย ความน่าจะเป็นของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ (ตามที่ตลาดประเมิน) ลดลง 11 จุด มาอยู่ที่ 39% ประกอบกับความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ลดลง ส่งผลให้ความต้องการถือทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยลดลงอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตามข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐในเดือนเมษายนเริ่มแสดงสัญญาณชะลอตัว ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นเพียง 0.2% MoM ต่ำกว่าคาดที่ 0.3% และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ก็ลดลงเช่นกัน ยอดขายปลีกกลุ่มควบคุมก็ลดลง 0.2% MoM ต่ำกว่าคาด แม้เฟดยังอยู่ในโหมดรอดู แต่ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ตลาดเริ่มคาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ยมากขึ้น
ถึงแม้ความตึงเครียดทางการค้าจะผ่อนคลายแต่นักลงทุนยังคงระมัดระวังต่อปัญหาหนี้สาธารณะ งบประมาณคู่ขาดดุล และความไม่สมดุลทางการคลังในระยะยาวซึ่งยังสนับสนุนราคาทองในภาพรวม
สรุปคือแม้ทองคำจะเผชิญแรงขายหนักในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังสามารถประคองตัวที่แนวรับสำคัญ $3,240 ได้ แม้อัตราเงินเฟ้อและยอดขายปลีกที่อ่อนแอจะช่วยผ่อนคลายบ้าง แต่ความเสี่ยงจากนโยบายภาษีที่ลดลงอาจทำให้แนวโน้มขาขึ้นยังต้องใช้เวลา
ในระยะถัดไปนักลงทุนจะต้องจับตาความคืบหน้าการเจรจาการค้า รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนในวันจันทร์ ซึ่งคาดว่าจะชะลอตัวลง YoY และดัชนี CPI ของอังกฤษในวันพุธ หากข้อมูลจีนบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวแบบเปราะบางและอัตราเงินเฟ้ออังกฤษออกมาต่ำกว่าการคาดการณ์
นี่ก็อาจเป็นตัวที่ช่วยหนุนทองในมุมของสินทรัพย์ปลอดภัยและต้นทุนโอกาสได้
สุดท้ายกระแสเงินลงทุนใน ETF ทองคำยังคงเป็นตัวชี้วัดสำคัญ ความต้องการทองคำจริงทั่วโลกในไตรมาส 1 เพิ่มขึ้นเพียง 1% YoY ซึ่งเป็นไตรมาสแรกที่แข็งแกร่งที่สุดตั้งแต่ปี 2016 โดยได้รับแรงหนุนเกือบทั้งหมดจากเงินลงทุน ขณะที่การซื้อทองของธนาคารกลางลดลง และความต้องการเครื่องประดับในจีน-อินเดียยังซบเซา
อย่างไรก็ตามทองคำในรูปแบบ ETF กลับเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่อง และหากแนวโน้มนี้ยังคงอยู่ก็อาจทำให้ราคาทองคำได้รับแรงกดดันเพิ่มเติม
โดยรวมแม้จะมีสัญญาณของการทรงตัว แต่ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่านี่คือจุดต่ำสุดอย่างมั่นใจ การร่วงลงครั้งนี้เกิดจากทั้งปัจจัยพื้นฐานและทางเทคนิค เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงมหภาคที่ชัดเจนกว่านี้ ราคาทองมีแนวโน้มจะเคลื่อนไหวในกรอบ หรืออาจอ่อนตัวลงต่อ